โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
เดิมมีอักษรย่อว่า “พ.ท.7” ตอนหลังเปลี่ยนเป็น “ท.ร.”
สมัยก่อนโรงเรียนตั้งอยู่ในวัดอินทราวาส (วัดท่ามิหรำ) จัดตั้งขึ้นเมื่อ
พ.ศ.2467 สังกัดกรมสามัญศึกษามีตัวอาคารเรียนเป็นไม้เก่าๆ หนึ่งหลัง กว้าง 6
เมตร ยาว 9 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา มุงสังกะสี อาคารนี้เซโย้ไปทางทิศตะวันออก
ซึ่งเป็นด้านกว้าง มีไม้ค้ำยันไว้ 2 ต้น ด้านหน้าหันไปทิศเหนือ เปิดโล่งหมด
มีฝากั้น 3 ด้าน อุปกรณ์การเรียนการสอนย่ำแย่เต็มที่ไม่ค่อยมีอะไรเลย
สำหรับครูนั้นมีโต๊ะและเก้าอี้ขาเก 3 ชุด กระดานดำ 3 แผ่น
นักเรียนนั่งเรียนกับพื้น ต้องไปอาศัยร่มไม้เป็นที่นั่งเรียนกันก็มี
สมัยนั้นมีครู 4 คน ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายมาอยู่ในสวนมะพร้าว ชื่อว่า
“โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม” ซึ่งเป็นที่ดินของ
“พระยาภิรมย์สมบัติ”ยกให้เป็นสมบัติของการศึกษาประชาบาล มีพื้นที่ 79 ไร่ 3 งาน
10 ตารางวา ที่ดินโรงเรียนบ้านท่ามิหรำแบ่งให้สำนักงานชลประทาน จำนวน 37 ไร่
ให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จำนวน 14 ไร่ ที่เหลือเป็นที่ตั้งโรงเรียนประมาณ
28 ไร่ แต่จากการสำรวจตรวจสอบเนื้อที่โดยราชพัสดุจังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ.2528
ปรากฏว่าเนื้อที่ทั้งหมดเหลืออยู่เพียง 63ไร่ 3 งาน ขนาดหายไปประมาณ 14 ไร่
ทั้งนี้เพราะการขยายถนนหลวงด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก
ดังนั้นในปัจจุบันคงเหลือที่ดินโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ เพียง 14ไร่ เท่านั้น
ที่ดินอีกแปลงหนึ่งทางด้านทิศเหนือถนนราเมศวร์ ปัจจุบันเทศบาลเมืองพัทลุง
ได้จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างโรงพยาบาลชุมชนท่ามิหรำ
ศาลาจัตุรมุข หลวงพ่อปัญญานันทมุนี หอโพน และสนามเด็กเล่น
อาคารเรียนหลังแรกเป็นบ้านพักของ นายแหวน
กลับเพชร ซึ่งทางราชการส่งมาเพื่อทดลองทำสวนมะพร้าว
เดิมเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม
ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลชะมวง อำเภอรัตภูมิ
จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.2467 และครูแหวน กลับเพชร ถูกย้ายไปเป็นศึกษาธิการอำเภอ
รัตภูมิ
จังหวัดสงขลาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และพระทินนามเป็น “ขุนกลับเพชรศึกษากร”
บ้านพักของ ครูแหวน จึงว่างลง ทางราชการจึงย้ายโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
มาอยู่ที่บ้านพักครูแหวน ตั้งแต่นั้นมา
พ.ศ.2473
ขุนวิศาสจรรยา
เป็นศึกษาธิการจังหวัดพัทลุง ได้ของบประมาณ
และอนุมัติให้สร้างอาคารเรียนถาวร ให้แก่โรงเรียนนี้ 1 หลัง
เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว เสาคอนกรีตใต้ถุนสูง 2.50 เมตร 4 ห้องเรียน
ห้องประชุมอยู่กลาง นักเรียนนั่งเรียนกับพื้น
ส่วนอาคารหลังเดิมเลิกใช้เนื่องจากชำรุดมาก
สมัยเสถียร พรหมภัตติ์
เป็นครูใหญ่
ได้พัฒนาสนามด้านหน้าโรงเรียนซึ่งเป็นสวนมะพร้าวและจอมปลวกเกะกะ
ซึ่งติดกับถนนราเมศวร์ โดยใช้แรงงานนักเรียนชั้น ป.3 – ป.4
ในเวลาเรียนพลศึกษา และนอกเวลา ภารโรงช่วยตัดต้นมะพร้าว ขุดปลวก
เกลี่ยดินตามกำลังของเด็กงานไม่ค่อยคืบหน้าเท่าใด
ปลายปี พ.ศ.2473
มีชายฉกรรจ์จำนวนมากค้างชำระเงินรัชชูปการปีละ 4 บาท และค่าศึกษาฟรีอีก
2 บาท รวมเป็นเงิน 6 บาท ทางอำเภอจึงเรียกตัวมาให้ทำงานโยธาใช้แทนเงิน
คนละ 15 วัน โรงเรียนเห็นเป็นโอกาสดี
จึงขอให้ชายฉกรรจ์เหล่านั้นมาช่วยปรับสนาม ซึ่งทางอำเภอส่งมาให้งวดละ
5-6 คน หลายงวด สนามเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
ใช้เป็นที่ฝึกกายบริหารและให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นได้พอสมควร
ในสมัยนั้นเรียกชื่อว่า
“โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่ามิหรำ”
เป็นโรงเรียนใหญ่และเด่นกว่าตำบลอื่นๆทุกตำบล
พ.ศ.2479
ทางราชการได้โอนโรงเรียนบ้านท่ามิหรำไปสังกัดเทศบาลเมืองพัทลุง
จนถึง พ.ศ.2486
คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนการศึกษาประชาบาลไปยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามเดิม
โรงเรียนจึงกลับมาสังกัดกรมสามัญศึกษา
พ.ศ.2482
ท้องถิ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ
ที่ตั้งโรงเรียนได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเมือง เขตตำบลคูหาสวรรค์
เป็นเขตเทศบาล
แบ่งเอาเขตตำบลท่ามิหรำฟากทิศใต้อันเป็นที่ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นกับตำบลคูหาสวรรค์
และได้โอนโรงเรียนประชาบาล ที่อยู่ในเขตเทศบาล
เป็นโรงเรียนเทศบาลตามกฎหมาย
เป็นหน้าที่ของเทศบาลเป็นผู้ดูแลด้านการศึกษา
แต่ทว่าโอนไปอยู่ได้ประมาณ 3-4 ปี
ทางฝ่ายการศึกษาประชาบาลก็จำเป็นต้องรับโอนคืน
ทั้งนี้เพราะเทศบาลมีรายได้น้อย ต่อมาโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
ได้ถูกโอนกลับไปสังกัดเทศบาลเมืองพัทลุง เป็นครั้งที่ 2
มีชื่อในสมัยนั้นว่า “โรงเรียนเทศบาล”
พ.ศ.2499
กรมสามัญได้เปิดโรงเรียนมัธยมสามัญขึ้นในที่ดินของโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
แต่แยกเป็นเอกเทศชื่อว่า “โรงเรียนเมืองพัทลุง”
พ.ศ.2502
กรมสามัญศึกษาได้รวมทั้ง 2
โรงเป็นโรงเรียนเดียวกันชื่อ “โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ”
เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.1-7 ใช้อักษรย่อว่า “พ.ท.7”
ต่อมาลดเหลือเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา 2521
และใน พ.ศ.2521 ได้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กขึ้น
พ.ศ.2513
เปิดโรงเรียนผู้ใหญ่บ้านท่ามิหรำ
สอนระดับ 3-4
พ.ศ.2520
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นที่โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
รับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 90 คน
พ.ศ.2521
กรมสามัญศึกษาให้โรงเรียนมัธยมศึกษากลับสภาพเป็นโรงเรียนประถมศึกษาตามเดิม
ส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 นักเรียนชายได้มอบให้โรงเรียนพัทลุง
นักเรียนหญิงมอบให้โรงเรียนสตรีพัทลุง
พ.ศ.2536
โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
ได้รับอนุมัติจากสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดพัทลุง
ให้เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา จำนวน
3 ห้องเรียน นักเรียนเข้าเรียน 115 คน
เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
22
พฤษภาคม 2552
โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
ได้โอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง กระทรวงมหาดไทย
จนถึงปัจจุบันเปิดสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
15
ธันวาคม 2557
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จมายังโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ อำเภอเมือง
จังหวัดพัทลุง ทรงเปิดชมรม ทูบี นัมเบอร์วัน และศูนย์เพื่อนใจ ทูบี
นัมเบอร์วัน
15
มกราคม 2558
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เดิมโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ
เป็นโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย พัทลุง